หน้าเว็บ

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

คนมีคู่ฟังทางนี้! 4 คำถามน่ารู้เรื่องสินสมรสและหนี้สมรส!

คนมีคู่ฟังทางนี้! 4 คำถามน่ารู้เรื่องสินสมรสและหนี้สมรส!
วันนี้ MoneyGuru.co.th ขอเอาใจคนมีคู่ ด้วยการเอาข้อมูลดีๆ มาฝากกันเกี่ยวกับเรื่องราวที่ หากคุณกำลังจะตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกันละก็ ต้องอยากรู้แน่ๆ นั่นคือเรื่องเงินๆ ทองๆ ของคู่แต่งงาน ทั้งเรื่อง สินสมรส และหนี้สมรสนั่นเอง เราไปดูกันว่า คำถามสำคัญๆ ที่คุณควรรู้มีอะไรบ้าง

สินทรัพย์และหนี้ของแฟนเรา เราควรรู้ก่อนแต่งหรือไม่?
แน่นอนว่า คนจะใช้ชีวิตร่วมกัน ความรักคือปัจจัยสำคัญ แต่ความรัก ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้การใช้ชีวิตคู่อยู่รอดตลอดรอดฝั่ง ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือ คู่ชีวิตต้องไม่ปิดบังกัน เปิดเผยต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีนี้คือเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งใครว่าไม่สำคัญนั้น ไม่จริง เพราะบนโลกของความเป็นจริงนั้น หลายต่อหลายคู่ต้องจบลงเพราะเรื่องเงิน ขัดแย้งกัน ปิดบังกันเรื่องผลประโยชน์ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างหนี้สิน หรือมีหนี้สินจนเป็นภาระครอบครัวและลูก มาตั้งแต่ก่อนแต่ง หลายคนอาจบอกว่า หากอีกฝ่ายก่อหนี้เอง ก็รับผิดชอบเอง เพราะไม่ใช่หนี้ร่วม แต่หากเกิดขึ้นจริง ด้วยความผูกพันธ์ และยิ่งหากมีลูก คงยากที่จะตัดเยื่อใย และปล่อยให้อีกฝั่งเผชิญหนี้สินคนเดียว เพราะฉะนั้น เราควรรู้ถึงสถานะการเงินของอีกฝ่ายให้ชัดเจนก่อนที่เราจะตัดสินใจร่วมหอลงโรง ใช้ชีวิตกับคนคนนั้น ดีกว่าแต่งไป แล้วปัญหาเกิดขึ้นในภายหลัง
จะต้องร่วมรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนแต่งงาน หรือไม่?
ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ!!!  โดยกฎหมายระบุว่า หนี้สินที่สามี หรือภริยา ก่อไว้กับบุคคลอื่น ก่อนการสมรส ถือเป็นหนี้สินส่วนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบเอง อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องร่วมรับผิดชอบ และเจ้าหนี้ จะไม่สามารถบังคับเอาสินสมรสมาเพื่อชดใช้หนี้ได้ ต้องบังคับเอาสินส่วนตัวของคู่สมรสที่เป็นลูกหนี้ก่อน หากสุดท้ายแล้วยังไม่พอ ก็มาบังคับเอาที่สินสมรสได้แต่ต้องเป็นส่วนของคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้เท่านั้น ส่วนคู่สมรสอีกฝั่งหนึ่ง สามารถเรียกร้องต่อศาลเพื่อกันสินสมรสส่วนของตนกึ่งหนึ่งออกมาได้
แต่งกันแล้ว คู่สมรสจะต้องร่วมรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นหลังแต่ง หรือไม่?
ก่อนอื่นเรามารู้จักกันก่อนว่า หนี้สินที่เกิดขึ้นหลังแต่งงาน คือ หนี้ระหว่างสมรส  ซึ่งหากคู่สมรสไปก่อหนี้กับบุคคลภายนอก ให้ถือเป็นหนี้สินส่วนตัว และต้องรับผิดชอบเพียงผู้เดียว!!! ยกเว้นสองกรณีคือ
1. หนี้ร่วม
คือ หนี้ที่ทั้งคู่ระบุชัดเจนว่าเป็นการกู้ร่วม มีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษชัดเจน
2. หนี้ที่กฎหมายระบุให้เป็นหนี้ร่วมกัน 
หนี้สินต่อไปหนี้ มีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้เพียงฝ่ายเดียว แต่กฎหมายให้ถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันระหว่างคู่สมรส
1. หนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส 
ทั้งนี้ สินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่สามีภริยาได้มาระหว่างสมรส หรือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับจากมรดก หรือพินัยกรรมที่ระบุชัดเจนว่าเป็นสินสมรส รวมไปถึงดอกผลของสินส่วนตัว  ซึ่งในกรณีนี้ หากมีหนี้สินเกิดขึ้น อาทิ ค่าจ้างตกแต่งซ่อมแซมบ้านอันเป็นสินสมรส กฎหมายให้ถือว่า ค่าซ่อมแซมบ้านนั้นเป็นหนี้ร่วมด้วย 
2. หนี้สินเกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและสิ่งจำเป็นในครอบครัว
หนี้สินเกี่ยวกับการเลี้ยงดู ค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว ถือเป็นหนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยกฎหมายระบุว่า จำนวนบุคคล จำนวนหนี้ ต้องสมเหตุสมผลตามอัตภาพ
3. หนี้สินจากอาชีพการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส 
หากมีการทำธุรกิจร่วมกัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจนั้น ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แม้ว่าชื่อลูกหนี้จะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของคู่สมรส
4. หนี้สินที่คู่สมรสก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายยินยอมให้สัตยาบัน 
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก่อหนี้ส่วนตัว ที่ไม่เข้าข่ายสามข้อข้างต้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมทำสัตยาบันว่าจะรับผิิดชอบร่วม หนี้ก่อนนั้นจะกลายเป็นหนี้ร่วมทันที เช่น การเป็นพยานในสัญญาเงินกู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ ให้ความยินยอมด้วยวาจาหรือหนังสือในการที่อีกฝ่ายหนึ่งทำสัญญาเงินกู้
แล้วสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลังแต่งงานล่ะ อะไรเป็นของใครบ้าง?
ในเรื่องนี้ สินทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลังแต่งงาน ถือว่าเป็น สินสมรสทั้งหมด โดยสินสมรส ถูกจัดแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ ทรัพย์สมบัติที่ได้มาหลังจากการแต่งงาน อาทิ เงินเดือน หรือ เงินโบนัสของคู่สมรส  ต่อมาคือ ทรัพย์สมบัติที่ได้มาโดยพินัยกรรม ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม แต่ต้องมีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสเท่านั้น สุดท้ายคือ ดอกผลที่เกิดขึ้น งอกเงยออกมาจากสินส่วนตัวของทั้งคู่ ให้ถือเป็นสินสมรสทั้งหมด ส่วนการจัดการสินสมรสนั้น กฎหมายระบุให้แบ่งกันคนละครึ่ง โดยทั้งสองฝ่ายต้องจัดการร่วมกัน