หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ความสำเร็จของน้องเมย์-รัชนก กับการลงทุน

ความสำเร็จของน้องเมย์-รัชนก กับการลงทุน
จากข่าวในหน้าเว็ปไซด์ หนังสือพิพม์หรือนิตยสารการลงทุนหลายๆแห่ง เรามักจะได้อ่านบทสัมภาษณ์ความมั่งคั่งของที่ประสบความเร็จจากการนำเงินไปทำงานด้วยการเริ่มต้นไม่กี่หมื่นบาท ทำให้พอร์ตเติบโตเป็นหลักล้านถึงหลายร้อยล้านบาท หรือผู้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุน จนกระทั่งลาออกจากงานประจำเป็นนักลงทุนเต็มตัว สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้สร้างแรงดึงดูดให้นักลงทุนหน้าใหม่ได้ก้าวเข้ามาสู่โลกของการลงทุนด้วยใจที่ห้าวหาญมากกว่าคนรุ่นก่อน จนมองข้ามประสบการณ์ลงทุนของผู้ให้สัมภาษณ์ว่ากว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องศึกษาหาความรู้จากตำรากี่เล่ม ต้องเข้าอบรมสัมมนากี่ชั่วโมงหรือลงทุนจริงๆแล้วล้มเหลวมาเท่าไหร่กว่าจะสร้างความมั่งคั่งได้ขนาดนี้ ซึ่งนักลงทุนตัวจริงควรศึกษาปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่ารับรู้เพียงด้านเดียวจากผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุน

ภาพแห่งชัยชนะของนักกีฬาแชมป์แบดมินตันโลก “น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์” ในปี 2556 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการกีฬาแบดมินตันด้วยวัยเพียง 18 ปี ภาพแห่งความประทับใจได้ถูกจารึกไว้ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศถึงความเก่งของน้องเมย์ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ความน่าสนใจมันไม่ใช่แชมป์โลกที่น้องเมย์ได้รับ แต่เป็นปัจจัยแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในตัวนักกีฬา คือ ฝึกซ้อม แข่งขันและโค้ชที่ดี 

3 หัวใจความสำเร็จของนักกีฬาและนักลงทุน

1. หมั่นฝึกซ้อม – ศึกษาหาความรู้
น้องเมย์เริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่อายุ 6 ขวบและจริงจังกับการซ้อมมากขึ้นในช่วงอายุ 8-9 ขวบ โดยฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นแชมป์แบดมินตันโลกด้วยวัยเพียง 18 ปี ดังนั้น ถ้าจะนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงช่วงที่ได้รับแชมป์โลก เป็นการเดินทางที่ต้องใช้เวลานานกว่า 12 ปี ถึงแม้ว่าได้เป็นแชมป์โลกแล้ว แต่น้องเมย์ก็ยังไม่หยุดที่จะฝึกซ้อมและเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการตีของตัวเองให้ดีมากขึ้นเพราะคิดว่าเก่งเท่านี้ยังไม่พอจะต้องทำให้ดีกว่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในโลกการลงทุนก็เช่นเดียวกันผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์จากการเข้ารับการอบรม การอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ให้ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา แม้ว่าประสบความสำเร็จจากการลงทุนแล้วก็ยังไม่หยุดที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนากลยุทธ์และปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันต่อโลกการลงทุนที่เปลี่ยนไปมากขึ้น

2. ลงแข่งขัน – ลงทุนจริง
น้องเมย์ได้เริ่มลงแข่งขันตั้งแต่อายุ 12 ปีในหลายรายการซึ่งอาจจะมีทั้งแพ้และชนะผสมกันไป เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ นักกีฬาจะเก่งได้ก็ต้องลงสนามบ่อยๆเพื่อจะได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เพราะโค้ชกับเพื่อนที่เป็นคู่ซ้อมด้วยกันก็จะรู้ทันกัน ซึ่งแตกต่างกับคู่แข่งขันที่มาจากต่างถิ่นจะมีฝีมือแตกต่างกัน ยิ่งเจอกับคู่แข่งที่เก่งกาจมากขึ้น ก็จะทำให้นักกีฬามีฝีมือในการเล่นที่พัฒนาเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
ผู้ที่ศึกษาการลงทุนในตำราจนชำนาญ เข้าฟังสัมมนาจนทะลุปรุโปร่ง แต่ไม่กล้าเริ่มลงทุนจริงๆเลยสักบาทเดียว เพียงเพราะกลัวความเสี่ยง รอจังหวะการลงทุนให้ตลาดลงมาเยอะๆก่อนแล้วจึงเข้าไปซื้อ แต่พอตลาดลงมาเยอะแล้วก็ยังไม่กล้าเพราะคิดว่าน่าจะลงไปได้อีก จนสุดท้ายหุ้นขึ้นพร้อมกับคำว่า “รู้งี้...” ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ความรู้เพราะมีเก็บไว้เยอะมาก แต่มันอยู่สภาพจิตใจที่พร้อมยอมรับความเสี่ยงด้วยการลงทุนจริงๆ เพราะตลาดหุ้นก็ไม่ใช้หลักการในตำรา 100% ถ้ามีความรู้พร้อมแล้วแต่ไม่กล้าลงทุน(ลงสนามจริง) ก็เหมือนกับการไม่รู้อะไรเลย

หากกลัวมากขนาดนี้ก็อาจจะเริ่มด้วยเงินจำนวนน้อยๆ ทดลองลงทุนเพื่อให้เข้าใจอารมณ์ของตลาด อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ความรู้ที่ศึกษามาด้วยว่าใช้งานได้จริงหรือไม่และจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเพื่อหาแนวทางการลงทุนให้เหมาะสมกับนิสัยตนเองได้ดีมากขึ้น เช่น บางคนศึกษาตำราการลงทุนมาอย่างดี แล้วคิดว่าตนเองเป็นนักลงทุนระยะยาว VI ไม่คิดถึงความโลภจากการลงทุนและรอรับเงินปันผล แต่พอเข้ามาลงทุนในตลาดจริงๆที่หุ้นตัวเล็กวิ่งให้เกลื่อนก็แปลงร่างกลายเป็นเม่าน้อยซะอย่างงั้น เพราะคำว่า “อย่าโลภ” ที่เขียนในตำรากับการลงทุนจริงนั้นแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
3. โค้ชที่ดี – ที่ปรึกษาการลงทุนที่ดี
นักกีฬาที่เก่งจะมีโค้ชช่วยแนะนำวิธีการเล่นให้ดีมากขึ้น เพิ่มจุดแข็งและลดจุดด้อยเพื่อให้เป็นนักกีฬามืออาชีพที่เก่งสมบูรณ์ รวมทั้งมีวิธีสร้างขวัญกำลังใจในยามที่นักกีฬาท้อแท้ มีวิธีจูงใจให้นักกีฬาตั้งใจฝึกซ้อม เพราะการเป็นโค้ชที่ดีต้องเก่งในการมองเกมส์ให้ขาด รู้จักช่องโหว่ของนักกีฬากับวิธีพัฒนาทักษะต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดต้องเก่งทางด้านจิตวิทยาโดยการโน้มน้าวใจให้นักกีฬาเชื่อฟังยอมทำตามสิ่งที่โค้ชแนะนำ

นักลงทุนที่เก่งก็จะมีต้องมีที่ปรึกษาการลงทุนที่มีจรรยาบรรณคอยให้คำแนะนำ เหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดให้นักลงทุนโดย ช่วยวางแผนการลงทุน แนะนำเรื่องการลงทุนที่สร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุน คอยตักเตือนนักลงทุนในช่วงเวลาที่ตกใจเกินเหตุ(ขายหุ้นทิ้งโดยลืมนโยบายการลงทุนที่วางไว้) หรือกล้าบ้าบิ่นที่ซื้อหุ้นวิ่งโดยไม่รู้จักพื้นฐาน โดยให้คำแนะนำที่เหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณผู้ดูแลนักลงทุนที่ดี เพื่อให้เป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพ

ผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนหุ้นได้อย่างยั่งยืนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “จำนวนเงิน”ว่าใครมีมากกว่าคนนั้นจะบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้เร็วกว่า แต่มันอยู่ที่ “การศึกษาหาความรู้ การลงทุนจริง และมีที่ปรึกษาการลงทุนที่ดี ” เพื่อที่จะสร้างและรักษาความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน